วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553
พระนางมารี อองตัวเน็ต
มารี-อองตัวเน็ต โฌเซฟ ฌานน์ เดอ ฮับสบูร์ก-ลอแรนน์ (ประสูติ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 ณ กรุงเวียนนา สิ้นพระชนม์ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 กรุงปารีส) เจ้าหญิงแห่งฮังการี และแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ราชินีฝรั่งเศส และนาวาร์ (แคว้นบาสก์ในปัจจุบัน) (พ.ศ. 2317 – พ.ศ. 2336) รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า มารี-อองตัวเนตแห่งออสเตรีย พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส
เมื่อทรงพระเยาว์
ที่กรุงเวียนนา
ธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ดยุคใหญ่แห่งแคว้นทัสคานี (แห่งราชสำนักลอเรนน์) กับสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถมาเรีย เทรีซาแห่งออสเตรีย มารี อองตัวเนตดำรงพระยศเป็น กษัตริย์ แห่งฮังการี และราชินีแห่งแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย (แห่งราชสำนักฮับสบูร์ก) พระนางประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 (ค.ศ. 1755) เป็นธิดาองค์ที่ 15 และก่อนองค์สุดท้ายของพระบิดาและพระมารดา พระนางถูกเลี้ยงดูโดยอายาส เหล่าข้าราชบริพารของราชสำนัก (มาดาม เดอ บร็องเดส และต่อมาโดยมาดาม เดอ เลอเชนเฟลด์ ผู้เข้มงวด) ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดของจักรพรรดินี ผู้มีแนวความคิดล้าหลังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูโอรสและธิดา ด้วยการควบคุมสุขอนามัย และกระยาหารอย่างเข้มงวด และการทรมานร่างกายด้วยกิจกรรมหนักหน่วง มารี อองตัวเนตเติบโตขึ้นที่พระราชวังฮอฟบูร์กในกรุงเวียนนา และ ปราสาทชอนบรุนน์ การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยประละเลย (หรือในอีกแง่หนึ่ง คือถูกเลี้ยงมาแบบง่ายๆกว่าการเลี้ยงดูราชนิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ทั้งปวงของราชสำนัก เกือบจะแบบชาวบ้านธรรมดา) สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่ออายุเกือบสิบชันษา เขียนภาษาเยอรมันได้ไม่ดีนัก พูดภาษาฝรั่งเศสได้น้อยนิด และยิ่งถ้าเป็นภาษาอิตาเลียนแล้วพระนางพูดได้น้อยมาก แม้ว่าทั้งสามภาษานั้นจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาราชนิกูลของออสเตรียก็ตาม จักรพรรดินีได้บังคับให้พระนางอภิเษกสมรสกับหลานชายคนโตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้มีชันษาใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกัน จักรพรรดินียังใฝ่ฝันจะจัดการอภิเษกอิซาเบล ธิดาอีกองค์ กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ทรงชราภาพ
เมื่อมารี อองตัวเนตทรงเจริญพระชนมายุได้ 13 ชันษา จักรพรรดินีที่ขณะนั้นทรงเป็นหม้าย ได้ทรงสนพระทัยเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาของโอรสธิดา เพื่อจะได้สามารถจัดการอภิเษกสมรสได้ อาร์คดัชเชสมารี อองตัวเนต ได้หัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับ คริสตอฟ วิลบัลด์ กลุค (คีตกวีชื่อดัง) และเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสกับโนแวร์ เมื่อพระมารดาต้องเลือกระหว่างนักแสดงสองคนเพื่อให้มารี อองตัวเนตหัดการอ่านออกเสียง และร้องเพลง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทัดทานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่านักแสดงไม่มีคุณสมบัติพอ มารี-เทเรซา แห่งออสเตรีย จึงได้ขอให้เขาจัดหาครูที่ราชสำนักฝรั่งเศสรับรองมาให้ ผู้ที่ถูกส่งมาคือ บาทหลวงแห่งแวร์มงด์ ผู้นิยมในยุคแสงสว่าง และผู้นิยมศาสตร์แห่งการคัดตัวหนังสือ เขาจะเป็นผู้ที่แก้ไขข้อบกพร่องทางการศึกษาของมารี อองตัวเนต
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2312 (ค.ศ. 1769) มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ได้มาสู่ขอมารี อองตัวเนตเพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส จักรพรรดินีมารี-เทเรส แห่งออสเตรียรีบตกปากรับคำ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสที่เคร่งศาสนาได้คัดค้านการหมั้นหมายดังกล่าวที่ดำเนินการโดยดยุคแห่งชัวเซิล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับออสเตรีย ศัตรูตลอดกาล พวกเขาได้เรียกพระชายาของมกุฎราชกุมารแล้วว่า ผู้หญิงออสเตรีย
มกุฎราชกุมารี
มารี อองตัวเนต ระหว่างปี พ.ศ. 2312 - พ.ศ. 2313เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) มารี อองตัวเนต ได้ประกาศสละสิทธิ์ในการเป็นอาร์คดัชเชสของราชสำนักออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น เมื่อบรรดาเจ้าหญิงแห่งแคว้นลอเรนน์ของฝรั่งเศส ได้อ้างสิทธิ์ในการเป็นพระญาติกับองค์มกุฎราชกุมาร เพื่อให้ได้เต้นรำกับพระองค์ก่อนบรรดาอาร์คดัชเชสจากออสเตรียที่มาร่วมงาน ท่ามกลางความกังวลของเหล่าผู้ดีทั้งหลาย ที่ได้มีการซุบซิบนินทาต่อต้าน "ผู้หญิงออสเตรีย" กันแล้ว และในเย็นวันนั้นเอง มีประชาชน 132 คนขาดใจตายกลางท้องถนน ในระหว่างพิธีเฉลิมฉลองงานมงคลอภิเษกสมรส
มกุฎราชกุมารีผู้เยาว์ชันษาทรงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในรั้วในวังของฝรั่งเศส พระสวามีของพระนางตีตนออกห่าง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2316) พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธี และขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส และทรงเกลียดการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้ว พระนางยังได้รับคำปรึกษาทางไกลจากกรุงเวียนนา โดยการเขียนจดหมายโต้ตอบมากมายหลายฉบับกับพระมารดา และกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโตเป็นผู้เดียวที่พระนางสามารถวางพระทัยได้ เนื่องจากดยุคแห่งชัวเซิลได้ถูกปลดจากตำแหน่งภายในเวลาไม่ถึงปีหลังการอภิเษกสมรส จากแผนการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมาดาม ดู บาร์รี พระสนมผู้ทรงอิทธิพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จดหมายโต้ตอบกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชิ้นเยี่ยม ที่จะอธิบายชีวิตโดยละเอียดของมารี อองตัวเนตภายหลังการอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) จนกระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง พระมารดาในปี พ.ศ. 2323 (ค.ศ. 1780)
ขึ้นครองราชย์
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต และพระนางมารี อองตัวเนต ได้ทรงขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส และแห่งนาแวร์ แต่พฤติกรรมของพระนางไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุคแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคานท์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่นๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล
ชีวิตในราชสำนัก
มารี อองตัวเนต พยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นตามพระทัย หรือไม่ก็ด้วยคำแนะนำของพระสหายผู้จะได้รับประโยชน์ พระนางต้องเดือดร้อนจากการเข้าไปพัวพันกับคดีกีเนส (เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน ผู้ถูกกล่าวหาว่าวางแผนผลักดันฝรั่งเศสเข้าร่วมสงคราม) เนื่องด้วยขาดความยั้งคิด ส่งผลให้พระนางสั่งปลดตูร์โกต์ในกาลต่อมา บารอนพิชเลอร์ ราชเลขาของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง ได้ให้ความเห็นโดยรวมอย่างสุภาพด้วยการบันทึกไว้ว่า :
"พระนางไม่ต้องการจะปกครอง หรืออำนวยการ หรือแม้แต่ชี้นำเรื่องใดๆก็ตาม สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่พระนางคิดคำนึงมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว พระนางไม่ค่อยคิดเรื่องอื่นเท่าไรนัก และอุปนิสัยรักอิสระของพระนางเป็นข้อพิสูจน์ที่เพียงพอแล้ว เนื่องจากพระนางจะสนพระทัยเฉพาะสิ่งบันเทิงเริงรมย์ หรือไม่ก็เรื่องไร้สาระ"
กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนางได้รวมตัวกันตั้งแต่เมื่อพระนางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ มีการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีชายชู้ (ท่านเค้าท์แห่งอาร์ตัว พระเชษฐาเขย และท่านเค้าท์ฮาน แอกเซล เดอ เฟอเสน หรือแม้กระทั่งว่าพระนางมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสตรี (โยลองด์ เดอ โปลาสตรง และเค้าท์เตส เดอ โปลินยัก) มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และเป็นฝ่ายหนุนหลังออสเตรียที่ตอนนั้นถูกปกครองโดยพระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย พระเชษฐาของพระนาง แต่ก็ต้องกล่าวว่า พระนางได้ทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับพวกต่อต้านออสเตรีย ด้วยการปลดดยุคแห่งเอกุยยง และแต่งตั้งดยุคแห่งชัวเซิลขึ้นแทน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระราชวังแวร์ซายร้างจากผู้คน พวกนางสนมที่ราชินีหวาดระแวงได้หนีหน้าหายไปเนื่องด้วยไม่สามารถสนับสนุนรายจ่ายที่เกิดจากชีวิตอันหรูหราในราชสำนักได้
ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) มารี อองตัวเนตได้มีประสูติกาลพระธิดาองค์แรก ที่มีพระนามว่า มารี-เทเรสแห่งฝรั่งเศส (ชาตะ พ.ศ. 2321 - มรณะ พ.ศ. 2394) หรือมีชื่อเล่นว่า "มาดามรัวยาล" และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2324 (ค.ศ. 1781) ก็ถึงคราวให้กำเนิดเจ้าชายหลุยส์-โจเซฟ มกุฎราชกุมาร แต่ประสูติกาลเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีแก่พระนางมารี อองตัวเนต เนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่าโอรสธิดานั้นไม่ได้มีเชื้อสายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางได้หันกลับมาใช้ชีวิตที่สนุกสนานเช่นเดิมอย่างรวดเร็ว และได้เฝ้าดูการก่อสร้างหมู่บ้านชนบทที่พระราชวังแวร์ซาย ให้เป็นฟาร์มขนาดเล็กที่พระนางเชื่อว่าทำให้ได้ค้นพบชีวิตชาวนาอันผาสุก ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) พระนางได้ให้กำเนิดพระโอรสองค์ที่สอง มีพระนามว่าเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ดำรงตำแหน่งดยุคแห่งนอร์มงดี
คดีสร้อยพระศอ
มารี อองตัวเนตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อองตัวเนต เมื่อนายโบห์แมร์เรียกร้องเงินจำนวน หนึ่งล้านห้าแสนปอนด์จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อองตัวเนตยืนยันที่จะให้จับกุมพระคาร์ดินัล แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมา องค์กษัตริย์ได้มอบหมายให้รัฐสภาจัดการเรื่องนี้ ที่ในที่สุดก็ทราบตัวการ คือคู่รักที่อ้างว่าเป็นเค้าท์และเค้าท์เตสมอธ ที่ไปหลอกลวงพระคาร์ดินัลโรอองผู้บริสุทธิ์อีกต่อหนึ่ง แม้ว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ก็เสียพระเกียรติเป็นอันมาก เมื่อพระนางขอให้พระมหากษัตริย์เบิกตัวพระคาร์ดินัลเดอ โนไอญ์ และให้ส่งตัวพระนางไปลี้ภัยในที่สังฆมณฑลแห่งหนึ่งของพระคาร์ดินัลนี้
มารี อองตัวเนตได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของพระนางในที่สุด และได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ซึ่งก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง เมื่อพระสหายโปรดเห็นว่าพวกเขาไม่มีภาระหน้าที่อีกต่อไป พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" และมีคนกล่าวหาพระนางว่าเป็นต้นเหตุของการต่อต้านรัฐสภาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 รวมทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีหลายคนโดยไม่มีเหตุผลสมควร อันที่จริงแล้ว ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) พระนางเป็นผู้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปลดนายโลเมนี เดอ เบรียนน์ผู้เสื่อมความนิยม และแต่งตั้งนายชัค เนคแกร์ขึ้นแทน แต่การกระทำดังกล่าวก็สายไปที่จะกอบกู้ชื่อเสียงคืนมา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น