วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระนางมารี อองตัวเน็ต ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส




การปฏิวัติฝรั่งเศส
พ.ศ. 2332
ในปี พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) สถานการณ์ขององค์ราชินีเลวร้ายลงมาก มีเสียงเล่าลือว่าคุณผู้ชาย (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ในอนาคต) จะยื่นเรื่องต่อสภาบุคคลชั้นสูงในปี พ.ศ. 2330 (ค.ศ. 1787) เพื่อขอพิสูจน์สายเลือดของโอรสธิดาของกษัตริย์ ข่าวลือยังอ้างด้วยว่าองค์ราชินีได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองวัล-เดอ-กราซ ชานกรุงปารีส บาทหลวงซูลาวี ได้เล่าไว้ใน บันทึกประวัติศาสตร์และการเมืองในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่า "พระนางได้นำเอาความโชคร้ายของสาธารณะชนไปกับพระนางด้วย และทางราชสำนักก็มีชีวิตชีวาขึ้น และได้รับการฟื้นฟูขึ้นโดยทันทีทันใด จากการที่พระนางเสด็จแปรพระราชฐานเพียงอย่างเดียว"

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) ได้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ขึ้น ระหว่างพิธีมิสซาเพื่อการเปิดสภาอย่างเป็นทางการ สาธุคุณเดอ ลา ฟาร์ ผู้อยู่บนบัลลังก์สงฆ์ ได้กล่าวประนามมารี อองตัวเนตอย่างเปิดเผย ด้วยการตีแผ่การใช้ชีวิตในราชสำนักอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และยังกล่าวว่าผู้ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตหรูหราดังกล่าวได้หลบไปหาความสำราญด้วยการ ใช้ชีวิตเลียนแบบธรรมชาติอย่างไร้เดียงสา อันเป็นคำประชดประชันแดกดันด้วยการเปรียบเปรยถึงชีวิตในพระตำหนักเปอติ ทรีอานง บ้านไร่ในพระราชวังแวร์ซายที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับพระนางมารี อองตัวเนต (ตามที่เขียนไว้ใน บันทึกเกี่ยวกับคณะสมาชิกสภา ของ อาเดรียง ดูเกสนัว)

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มกุฏราชกุมารพระองค์น้อยได้สิ้นพระชนม์ลง ได้มีการจัดพิธีพระศพขึ้นที่วิหารน้อยซังต์-เดอนีส์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย กิจกรรมทางการเมืองไม่อนุญาตให้เชื้อพระวงศ์ไว้ทุกข์ได้อย่างสะดวกนัก มารี อองตัวเนต ผู้ซึ่งปั่นป่วนพระทัยจากเหตุการณ์นี้ และเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษากษัตริย์ จึงปักใจเชื่อในแนวคิดต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้สั่งปลดนายชาก เนกแกร์ องค์ราชินีได้เผาเอกสารต่างๆ และรวบรวมเพชรนิลจินดาของพระนาง และกราบทูลโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายไปหลบในปราสาทที่เป็นป้อมปราการแข็งแกร่งกว่านี้ ห่างไกลจากกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) หน้งสือต่อต่านระบอบกษัตริย์ถูกแจกจ่ายไปทั่วกรุงปารีส ผู้ใกล้ชิดพระนางถูกหมายหัว และพระเศียรของมารี อองตัวเนตถูกตั้งราคาไว้ มีคนกล่าวหาพระนางว่าต้องการลอบวางระเบิดรัฐสภาและต้องการส่งทหารเข้ามาในกรุงปารีส

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหม่ขึ้น ขณะที่มีงานเลี้ยงพระกระยาหารโต๊ะยาวโดยเหล่าราชองครักษ์จากพระตำหนักทหารขององค์กษัตริย์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กองทหารเรือจากฟลองเดรอที่เพิ่งกลับมาถึงกรุงปารีส ได้มีการโห่ร้องถวายพระพรแก่องค์ราชินี อีกทั้งประดับประดาสถานที่ด้วยธงชัยสีขาว และธงไตรรงค์ ประชาชนในกรุงปารีสได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานพระราชพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถวายช่อดอกไม้ ในขณะที่ประชาชนขาดแคลนขนมปัง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ขบวนประท้วงของเหล่าสตรีได้เดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซาย เพื่อเรียกร้องขอขนมปัง โดยกล่าวว่าพวกเขากำลังเดินทางไปหา คนทำขนมปังชาย (พระมหากษัตริย์) และคนทำขนมปังหญิง (องค์ราชินี) รวมทั้ง บุตรชายของคนทำขนมปัง (มกุฎราชกุมาร) ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนผู้ลุกฮือติดอาวุธด้วยหอกและมีด ได้บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อเป็นการข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารของมาร์กี เดอ ลา ฟาแยต และเหล่าผู้ลุกฮือตามประกบ ระหว่างทาง ได้มีผู้ข่มขู่องค์ราชินีโดยการให้ทอดพระเนตรเชือกเส้นหนึ่ง พร้อมกับกราบทูลว่าจะใช้เสาโคมในกรุงปารีสแขวนคอพระนางด้วยเชือกเส้นนี้

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐสภาแห่งชาติได้ประกาศให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ร่วมกับพระนางมารี อองตัวเนตขอความช่วยเหลือจากราชวงศ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก กษัตริย์แห่งปรัสเซีย พระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งสเปน และพระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย พระเชษฐาของพระนางมารี อองตัวเนต แต่กษัตริย์แห่งเสปนได้ตอบกลับอย่างคลุมเครือ และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333 (ค.ศ. 1790) พระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรียเสด็จสวรรคต ลา ฟาแยตได้แนะนำอย่างเย็นชาให้มารี อองตัวเนตหย่ากับกษัตริย์ ยังมีบางกระแสได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกับพระนางเรื่องมีชายชู้ และจับได้ว่าพระนางลอบเป็นชู้กับท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ แฟร์ซอง

ราวปลายปี พ.ศ. 2333 บารอน เดอ เบรอเตย ได้เสนอแผนการหลบหนี ด้วยการหนีออกจาพระราชวังตุยเลอรี และเข้ายึดป้อมปราการที่เมืองมงต์เมดี ให้กับชายแดน องค์ราชินีต้องอยู่ตามลำพังพระองค์เองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2333 แมร์ซี-อาร์จองโต ได้ออกจากฝรั่งเศส เพื่อไปรับตำแหน่งในสถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 กษัตริย์องค์ใหม่แห่งออสเตรีย พระเชษฐาอีกพระองค์ของมารี อองตัวเนต ปฏิเสธที่จะช่วยพระนาง ในวันที่ 7 มีนาคม ได้มีผู้จับได้ว่าแมร์ซี-อาร์จองโต ส่งจดหมายถึงพระนาง และได้นำเรื่องให้คณะปฏิวัติดำเนินการ จึงเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นว่า นั่นเป็นหลักฐานว่าพระนางได้มีส่วนพัวพันกับ "คณะกรรมาธิการออสเตรีย" และได้เจรจาจะขายชาติให้กับประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กลุ่มก่อการปฏิวัติได้บุกกรุงปารีส ทันใดนั้นเอง ชาวกรุงปารีสก็พบว่ากษัตริย์กับราชินีได้หลบหนีไปแล้ว แต่มาร์ควิส เดอ ลา ฟาแยตต์ได้โน้มน้าวให้กลุ่มก่อการปฏิวัติเชื่อว่ากษัตริย์ถูกกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติลักพาตัวไป พระราชวงศ์ที่หลบไปนอกกรุงปารีสไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวอีกต่อไป แต่โชคร้ายที่ราชรถของพวกพระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อองตัวเนตมาถึงช้าไปกว่าสามชั่วโมง และเมื่อพวกเขามาถึงจุดนัดพบจุดแรก ที่จุดแวะพักปงต์-เดอ-ซอม-เวสเลอ กองทหารที่จะมาช่วยได้จากไปเสียแล้ว โดยคิดว่าพระมหากษัตริย์เปลี่ยนพระทัย ก่อนจะถึงเที่ยงวันเล็กน้อย ราชรถถูกจับได้ที่เมืองวาเรนน์-ออง-อาร์กอนน์ เนื่องจากเจ้าของจุดแวะพักจุดก่อนจำพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าจะทำอย่างไรดี และในขณะนั้นเอง ได้มีฝูงชนหลั่งไหลมาที่เมืองวาเรนน์ ท้ายที่สุด ราชวงศ์ที่กำลังถูกคุกคาม ได้ถูกนำตัวกลับไปยังกรุงปารีส ภายใต้บรรยากาศโหดร้ายอันเรียบเชียบเงียบงัน

ภายหลังเหตุการณ์ที่เมืองวาเรนน์
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกไต่สวนโดยคณะผู้แทนของสภาแห่งชาติ พระองค์ได้ตอบคำถามอย่างคลุมเครือ คำตอบที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนพระองค์จากตำแหน่งกษัตริย์ ทางด้านพระนางมารี อองตัวเนตได้พบกับอองตวน บาร์นาฟ อย่างลับๆ โดยต้องการโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และในวันที่ 30 กันยายน ได้มีการยุบสภาที่ปรึกษากษัตริย์ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาแทนที่ แต่อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสงครามกับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้แพร่สะพัดไปทั่ว ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ของยุโรปทั้งหมด ออสเตรียทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกดดันที่สุด ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมารี อองตัวเนตและเรียกพระนางว่าเป็น "นางปิศาจ" หรือไม่ก็ "มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย" และยังกล่าวโทษว่าพระนางเป็นผู้ทำให้เมืองหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2335 (ค.ศ. 1792) คำแถลงการณ์แห่งบรุนส์วิก ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ แฟร์ซอง ได้จุดเพลิงแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสได้สำเร็จในที่สุด

ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยการบุกพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำต้องลี้ภัยในสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติ ที่ต่อมาได้ลงคะแนนให้ถอดถอนพระองค์ชั่วคราว และให้พระองค์เสด็จไปประทับที่คอนแวนต์ของนิกายเฟยยองต์ วันรุ่งขึ้น เชื้อพระวงศ์ก็ถูกนำตัวมาไว้ที่ห้องขังของโบสถ์ ระหว่างการสังหารหมู่เชื้อพระวงศ์ในเดือนกันยายน เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และพระเศียรของเจ้าหญิงถูกเสียบไว้ที่ปลายหอกและตั้งไว้นอกหน้าต่างห้องที่ประทับของพระนางมารี อองตัวเนต ไม่นานต่อมา หลังจากที่สงครามได้เริ่มขึ้น สภาคณะปฏิวัติได้ประกาศให้เชื้อพระวงศ์ตกอยู่ในฐานะตัวประกัน ราวต้นเดือนธันวาคม ได้มีการค้นพบ"เสื้อเกราะเหล็ก"ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้ซ่อนเอกสารลับของพระองค์ จึงจำเป็นต้องจัดการไต่สวนคดีขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม แมกซิมิเลียง เดอ โรเบสปิแยร์ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์ วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อองตัวเนตถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น

การพิจารณาคดี
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2336 มารี อองตัวเนตถูกตั้งข้อหาโดยศาลปฏิวัติ โดยฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน หากแม้นว่าการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีของราชินีมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้มีการทำสำนวนฟ้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากนายฟูกิเยร์ เดอ ทังวิลล์ไม่สามารถหาเอกสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พบทุกชิ้น และเพื่อให้สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่พระนางมารี อองตัวเนตได้ เขามีแผนที่จะให้มกุฎราชกุมารขึ้นให้การต่อศาลในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมารดา ซึ่งต่อหน้าศาล มกุฎราชกุมารพระองค์น้อยได้กล่าวหาพระมารดา และพระมาตุจฉาว่าเป็นผู้สอนให้พระองค์สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และบังคับให้เล่นเกมสวาท พระนางมารี อองตัวเนตผู้เสื่อมเสียพระเกียรติได้เรียกราชเลขามาขึ้นให้การ พระนางพ้นจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด แต่พระนางยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกว่าสมรู้ร่วมคิดกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และเมื่อพระนางยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ นายแอร์มานน์ ประธานศาลปฏิวัติ ได้กล่าวว่าพระนางเป็น "ตัวการสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทรยศต่อหลุยส์ ออร์กุสต์" คดีนี้จึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของทรราชไป บทนำของสำนวนฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่า:

"จากการพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ยื่นโดยผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน ผลปรากฏว่า ในบรรดาราชินีทั้งหลาย เป็นต้นว่า เมสซาลีน บรูเนอโอ เฟรเดกองด์ และมารี เดอ เมดิซี ที่เมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีชื่อเสื่อมเสียไม่อาจลบล้างได้จากประวัติศาสตร์ นับได้ว่ามารี อองตัวเนต หญิงหม้ายของหลุยส์ คาเปต์ เป็นผู้มีความละโมบเป็นที่สุด และเป็นหายนะอันใหญ่หลวงของชาวฝรั่งเศส"
พวกพยานที่จัดหามาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าที่ควร พระนางมารี อองตัวเนตให้การตอบว่า พระนาง "เป็นเพียงแค่ภรรยาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เท่านั้น และพระนางก็ทำอะไรตามพระทัยของพระนางเอง" นายฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ได้เรียกร้องให้ประหารพระนางและกล่าวหาว่าพระนางเป็น"ศัตรูอย่างเปิดเผยของชาติฝรั่งเศส" ทางด้านนายทรองซง-ดือคูเดรย์ และนายโชโว-ลาการ์ด ทนายความสองคนของพระนางมารี อองตัวเนต ยังหนุ่มและขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังไม่ได้เห็นเอกสารฟ้องก่อนขึ้นว่าความ ทำได้แค่เพียงอ่านออกเสียงบันทึกไม่กี่หน้าที่ตนได้จดเอาไว้

คณะลูกขุนต้องตอบถามคำถามสี่ข้อด้วยกัน:

" 1. จริงหรือไม่ที่ได้มีการคบคิดและมีการและเปลี่ยนข่าวกรองกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และศัตรูอื่นๆ นอกสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่การคบคิดและข่าวกรองดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้พวกนั้นเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศส และให้พวกนั้นพัฒนาอาวุธได้?"
"2. มารี อองตัวเนตแห่งออสเตรีย (...) เราเชื่อว่านางได้มีส่วนร่วมมือกับการคบคิดและสนับสนุนการข่าวกรองดังกล่าวหรือไม่?"
"3. จริงหรือที่มีแผนการสมรู้ร่วมคิดและแผนข่าวโคมลอยที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศส?"
"4. เราเชื่อว่ามารี อองตัวเนตได้มีส่วนร่วมในแผนสมรู้ร่วมคิดและข่าวโคมลอยนี้หรือไม่?"
คณะลูกขุนได้ตอบว่าคำถามดังกล่าวว่าจริงและใช่ทุกข้อ มารี อองตัวเนตจึงถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ประมาณเวลาสี่นาฬิกาของรุ่งเช้า ในวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อเวลาสิบสองนาฬิกาสิบห้านาที พระนางถูกประหารด้วยกิโยติน หลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ พระศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอองจู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) พระศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่วิหารซังต์ เดอนีส์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม

พระนางมารี อองตัวเน็ต




มารี-อองตัวเน็ต โฌเซฟ ฌานน์ เดอ ฮับสบูร์ก-ลอแรนน์ (ประสูติ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 ณ กรุงเวียนนา สิ้นพระชนม์ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 กรุงปารีส) เจ้าหญิงแห่งฮังการี และแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย ราชินีฝรั่งเศส และนาวาร์ (แคว้นบาสก์ในปัจจุบัน) (พ.ศ. 2317 – พ.ศ. 2336) รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า มารี-อองตัวเนตแห่งออสเตรีย พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส

เมื่อทรงพระเยาว์

ที่กรุงเวียนนา
ธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ดยุคใหญ่แห่งแคว้นทัสคานี (แห่งราชสำนักลอเรนน์) กับสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถมาเรีย เทรีซาแห่งออสเตรีย มารี อองตัวเนตดำรงพระยศเป็น กษัตริย์ แห่งฮังการี และราชินีแห่งแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย (แห่งราชสำนักฮับสบูร์ก) พระนางประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 (ค.ศ. 1755) เป็นธิดาองค์ที่ 15 และก่อนองค์สุดท้ายของพระบิดาและพระมารดา พระนางถูกเลี้ยงดูโดยอายาส เหล่าข้าราชบริพารของราชสำนัก (มาดาม เดอ บร็องเดส และต่อมาโดยมาดาม เดอ เลอเชนเฟลด์ ผู้เข้มงวด) ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดของจักรพรรดินี ผู้มีแนวความคิดล้าหลังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูโอรสและธิดา ด้วยการควบคุมสุขอนามัย และกระยาหารอย่างเข้มงวด และการทรมานร่างกายด้วยกิจกรรมหนักหน่วง มารี อองตัวเนตเติบโตขึ้นที่พระราชวังฮอฟบูร์กในกรุงเวียนนา และ ปราสาทชอนบรุนน์ การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยประละเลย (หรือในอีกแง่หนึ่ง คือถูกเลี้ยงมาแบบง่ายๆกว่าการเลี้ยงดูราชนิกูลในราชสำนักฝรั่งเศส ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ทั้งปวงของราชสำนัก เกือบจะแบบชาวบ้านธรรมดา) สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่ออายุเกือบสิบชันษา เขียนภาษาเยอรมันได้ไม่ดีนัก พูดภาษาฝรั่งเศสได้น้อยนิด และยิ่งถ้าเป็นภาษาอิตาเลียนแล้วพระนางพูดได้น้อยมาก แม้ว่าทั้งสามภาษานั้นจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาราชนิกูลของออสเตรียก็ตาม จักรพรรดินีได้บังคับให้พระนางอภิเษกสมรสกับหลานชายคนโตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้มีชันษาใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกัน จักรพรรดินียังใฝ่ฝันจะจัดการอภิเษกอิซาเบล ธิดาอีกองค์ กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ทรงชราภาพ

เมื่อมารี อองตัวเนตทรงเจริญพระชนมายุได้ 13 ชันษา จักรพรรดินีที่ขณะนั้นทรงเป็นหม้าย ได้ทรงสนพระทัยเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาของโอรสธิดา เพื่อจะได้สามารถจัดการอภิเษกสมรสได้ อาร์คดัชเชสมารี อองตัวเนต ได้หัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับ คริสตอฟ วิลบัลด์ กลุค (คีตกวีชื่อดัง) และเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสกับโนแวร์ เมื่อพระมารดาต้องเลือกระหว่างนักแสดงสองคนเพื่อให้มารี อองตัวเนตหัดการอ่านออกเสียง และร้องเพลง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทัดทานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่านักแสดงไม่มีคุณสมบัติพอ มารี-เทเรซา แห่งออสเตรีย จึงได้ขอให้เขาจัดหาครูที่ราชสำนักฝรั่งเศสรับรองมาให้ ผู้ที่ถูกส่งมาคือ บาทหลวงแห่งแวร์มงด์ ผู้นิยมในยุคแสงสว่าง และผู้นิยมศาสตร์แห่งการคัดตัวหนังสือ เขาจะเป็นผู้ที่แก้ไขข้อบกพร่องทางการศึกษาของมารี อองตัวเนต

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2312 (ค.ศ. 1769) มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ได้มาสู่ขอมารี อองตัวเนตเพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส จักรพรรดินีมารี-เทเรส แห่งออสเตรียรีบตกปากรับคำ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสที่เคร่งศาสนาได้คัดค้านการหมั้นหมายดังกล่าวที่ดำเนินการโดยดยุคแห่งชัวเซิล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับออสเตรีย ศัตรูตลอดกาล พวกเขาได้เรียกพระชายาของมกุฎราชกุมารแล้วว่า ผู้หญิงออสเตรีย

มกุฎราชกุมารี

มารี อองตัวเนต ระหว่างปี พ.ศ. 2312 - พ.ศ. 2313เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) มารี อองตัวเนต ได้ประกาศสละสิทธิ์ในการเป็นอาร์คดัชเชสของราชสำนักออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น เมื่อบรรดาเจ้าหญิงแห่งแคว้นลอเรนน์ของฝรั่งเศส ได้อ้างสิทธิ์ในการเป็นพระญาติกับองค์มกุฎราชกุมาร เพื่อให้ได้เต้นรำกับพระองค์ก่อนบรรดาอาร์คดัชเชสจากออสเตรียที่มาร่วมงาน ท่ามกลางความกังวลของเหล่าผู้ดีทั้งหลาย ที่ได้มีการซุบซิบนินทาต่อต้าน "ผู้หญิงออสเตรีย" กันแล้ว และในเย็นวันนั้นเอง มีประชาชน 132 คนขาดใจตายกลางท้องถนน ในระหว่างพิธีเฉลิมฉลองงานมงคลอภิเษกสมรส

มกุฎราชกุมารีผู้เยาว์ชันษาทรงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในรั้วในวังของฝรั่งเศส พระสวามีของพระนางตีตนออกห่าง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2316) พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธี และขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส และทรงเกลียดการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้ว พระนางยังได้รับคำปรึกษาทางไกลจากกรุงเวียนนา โดยการเขียนจดหมายโต้ตอบมากมายหลายฉบับกับพระมารดา และกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโตเป็นผู้เดียวที่พระนางสามารถวางพระทัยได้ เนื่องจากดยุคแห่งชัวเซิลได้ถูกปลดจากตำแหน่งภายในเวลาไม่ถึงปีหลังการอภิเษกสมรส จากแผนการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมาดาม ดู บาร์รี พระสนมผู้ทรงอิทธิพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จดหมายโต้ตอบกับท่านเค้าท์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชิ้นเยี่ยม ที่จะอธิบายชีวิตโดยละเอียดของมารี อองตัวเนตภายหลังการอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) จนกระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง พระมารดาในปี พ.ศ. 2323 (ค.ศ. 1780)

ขึ้นครองราชย์
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต และพระนางมารี อองตัวเนต ได้ทรงขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส และแห่งนาแวร์ แต่พฤติกรรมของพระนางไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุคแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคานท์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่นๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล

ชีวิตในราชสำนัก
มารี อองตัวเนต พยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นตามพระทัย หรือไม่ก็ด้วยคำแนะนำของพระสหายผู้จะได้รับประโยชน์ พระนางต้องเดือดร้อนจากการเข้าไปพัวพันกับคดีกีเนส (เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน ผู้ถูกกล่าวหาว่าวางแผนผลักดันฝรั่งเศสเข้าร่วมสงคราม) เนื่องด้วยขาดความยั้งคิด ส่งผลให้พระนางสั่งปลดตูร์โกต์ในกาลต่อมา บารอนพิชเลอร์ ราชเลขาของพระนางมารี-เทเรสที่หนึ่ง ได้ให้ความเห็นโดยรวมอย่างสุภาพด้วยการบันทึกไว้ว่า :

"พระนางไม่ต้องการจะปกครอง หรืออำนวยการ หรือแม้แต่ชี้นำเรื่องใดๆก็ตาม สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่พระนางคิดคำนึงมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว พระนางไม่ค่อยคิดเรื่องอื่นเท่าไรนัก และอุปนิสัยรักอิสระของพระนางเป็นข้อพิสูจน์ที่เพียงพอแล้ว เนื่องจากพระนางจะสนพระทัยเฉพาะสิ่งบันเทิงเริงรมย์ หรือไม่ก็เรื่องไร้สาระ"
กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนางได้รวมตัวกันตั้งแต่เมื่อพระนางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ มีการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีชายชู้ (ท่านเค้าท์แห่งอาร์ตัว พระเชษฐาเขย และท่านเค้าท์ฮาน แอกเซล เดอ เฟอเสน หรือแม้กระทั่งว่าพระนางมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสตรี (โยลองด์ เดอ โปลาสตรง และเค้าท์เตส เดอ โปลินยัก) มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และเป็นฝ่ายหนุนหลังออสเตรียที่ตอนนั้นถูกปกครองโดยพระเจ้าโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย พระเชษฐาของพระนาง แต่ก็ต้องกล่าวว่า พระนางได้ทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับพวกต่อต้านออสเตรีย ด้วยการปลดดยุคแห่งเอกุยยง และแต่งตั้งดยุคแห่งชัวเซิลขึ้นแทน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระราชวังแวร์ซายร้างจากผู้คน พวกนางสนมที่ราชินีหวาดระแวงได้หนีหน้าหายไปเนื่องด้วยไม่สามารถสนับสนุนรายจ่ายที่เกิดจากชีวิตอันหรูหราในราชสำนักได้

ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) มารี อองตัวเนตได้มีประสูติกาลพระธิดาองค์แรก ที่มีพระนามว่า มารี-เทเรสแห่งฝรั่งเศส (ชาตะ พ.ศ. 2321 - มรณะ พ.ศ. 2394) หรือมีชื่อเล่นว่า "มาดามรัวยาล" และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2324 (ค.ศ. 1781) ก็ถึงคราวให้กำเนิดเจ้าชายหลุยส์-โจเซฟ มกุฎราชกุมาร แต่ประสูติกาลเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีแก่พระนางมารี อองตัวเนต เนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่าโอรสธิดานั้นไม่ได้มีเชื้อสายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางได้หันกลับมาใช้ชีวิตที่สนุกสนานเช่นเดิมอย่างรวดเร็ว และได้เฝ้าดูการก่อสร้างหมู่บ้านชนบทที่พระราชวังแวร์ซาย ให้เป็นฟาร์มขนาดเล็กที่พระนางเชื่อว่าทำให้ได้ค้นพบชีวิตชาวนาอันผาสุก ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) พระนางได้ให้กำเนิดพระโอรสองค์ที่สอง มีพระนามว่าเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ดำรงตำแหน่งดยุคแห่งนอร์มงดี

คดีสร้อยพระศอ

มารี อองตัวเนตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อองตัวเนต เมื่อนายโบห์แมร์เรียกร้องเงินจำนวน หนึ่งล้านห้าแสนปอนด์จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อองตัวเนตยืนยันที่จะให้จับกุมพระคาร์ดินัล แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมา องค์กษัตริย์ได้มอบหมายให้รัฐสภาจัดการเรื่องนี้ ที่ในที่สุดก็ทราบตัวการ คือคู่รักที่อ้างว่าเป็นเค้าท์และเค้าท์เตสมอธ ที่ไปหลอกลวงพระคาร์ดินัลโรอองผู้บริสุทธิ์อีกต่อหนึ่ง แม้ว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ก็เสียพระเกียรติเป็นอันมาก เมื่อพระนางขอให้พระมหากษัตริย์เบิกตัวพระคาร์ดินัลเดอ โนไอญ์ และให้ส่งตัวพระนางไปลี้ภัยในที่สังฆมณฑลแห่งหนึ่งของพระคาร์ดินัลนี้

มารี อองตัวเนตได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของพระนางในที่สุด และได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ซึ่งก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง เมื่อพระสหายโปรดเห็นว่าพวกเขาไม่มีภาระหน้าที่อีกต่อไป พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" และมีคนกล่าวหาพระนางว่าเป็นต้นเหตุของการต่อต้านรัฐสภาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 รวมทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีหลายคนโดยไม่มีเหตุผลสมควร อันที่จริงแล้ว ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) พระนางเป็นผู้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปลดนายโลเมนี เดอ เบรียนน์ผู้เสื่อมความนิยม และแต่งตั้งนายชัค เนคแกร์ขึ้นแทน แต่การกระทำดังกล่าวก็สายไปที่จะกอบกู้ชื่อเสียงคืนมา

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แฝดสยามอิน จัน



อิน-จัน บังเกอร์ (Eng-Chang Bunker) แฝดที่มีลำตัวติดกันคู่แรกของโลก ที่มีอายุยืนที่สุด และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จนทำให้คนทั่วไปใช้คำว่า “แฝดสยาม” (Siamese twins) เรียกฝาแฝดที่เกิดมา มีลักษณะเช่นเดียวกับพวกเขา ซึ่งอิน-จัน เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2354 โดยการเดินสายโชว์ตัวไปทั่ว จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และตั้งรกรากอยู่ที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเสียชีวิต
แฝดสยามอิน-จัน (Siamese twins) เกิดมาในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2354 แม่เป็นชาวสมุทรสงคราม ชื่อนางนก ส่วนบิดาเป็นชาวจีนชื่อ นายทีอาย ประกอบอาชีพค้าขาย โดยอินและจัน เกิดมามีหน้าตาเหมือนกัน ร่างกายสมประกอบทุกอย่าง แต่หน้าอกและสะดือ รวมทั้งมีเนื้อตับติดกัน ด้วยในสมัยนั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ทันสมัย พอที่จะผ่าตัดเขาทั้งคู่ได้ เขาจึงต้องใช้ชีวิตติดกันอย่างนั้นเรื่อยมา
แม้ว่าเขาจะเป็นแฝด หน้าตาเหมือนกัน และตัวติดกัน แต่กลับมีนิสัย ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยอินจะเป็นคนเรียบร้อย ใจเย็น เงียบขรึม เจ้าความคิด ส่วนจันนั้นเป็นคนใจร้อน และเจ้าอารมณ์ เมื่อมีอายุได้ 8 ขวบ พ่อของพวกเขาเสียชีวิตลง ทำให้ทั้งคู่ ต้องช่วยเหลือแม่ ด้วยการขายไข่เป็ด เมื่อกัปตันคอฟฟิน และนายโรเบิร์ต ฮันเดอร์ เจ้าของคณะละครสัตว์ ได้มาพบอิน-จัน ในขณะพวกเขามีอายุได้ 18 ปี จึงได้ขอซื้อตัวทั้งคู่ เพื่อไปแสดงโชว์ในมหรสพของเขา ด้วยค่าตัว 1,600 บาท หลังจากนั้น เขาทั้งสองคนก็ถูกนำตัว ไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั่วยุโรปและอเมริกา ซึ่งได้รับความสนใจ จากผู้ชมอย่างมาก
ต่อมาทั้งสองแยกตัวออก มาตั้งคณะมหสพด้วยตัวเอง ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนร่ำรวย จึงซื้อที่ดิน เพื่อทำนาทำไร่ และปลูกบ้านของตัวเอง บนเนื้อที่ 150 เอเคอร์ หลังจากนั้น พวกเขาจึงหยุดแสดง และหันไปทำไร่ยาสูบแทน จนมีฐานะที่มั่นคงขึ้น แม้ว่าร่างกายของพวกเขา จะไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนปกติได้ ด้วยการใช้ชีวิตแต่งงาน กับภรรยาของเขา ชื่อ นางซาร่าห์ (Sarah) (ภรรยาของอิน) และ นางอาดีเลด (Adelaide) (ภรรยาของจัน) โดยทำพิธีแต่งงานกัน ที่โบสถ์เมธอดิสท์ ต่อมาทั้งคู่ ได้สร้างบ้านให้ภรรยาของตัวเองอยู่ ซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร และผลัดกันไปอยู่ตามบ้านครั้งละ 3 วัน
พวกเขาตั้งรกราก อยู่ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ขณะที่มีอายุได้ 60 ปี อิน-จัน ป่วยเป็นอัมพาตซีกขวา อีกทั้งอินยังดื่มสุราจัดมาก ทำให้สุขภาพของจัน อ่อนแอตามไปด้วย ต่อมาอิน-จัน จึงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดลมอักเสบ และปอดบวม เมื่อปีพ.ศ.2417 ด้วยวัย 62 ปี โดยจันเสียชีวิตก่อน และอีก 1 ชั่วโมงต่อมา อินก็หมดลมหายใจตาม ถึงอย่างไรพวกเขาทั้งสองคน ก็มีลูกชายและหญิง รวม 21 คน รวมทั้งลูกหลานสืบสกุลบังเกอร์ (Bunker) มาจนถึงปัจจุบัน มากกว่า 1,000 คน โดยในตระกูลของพวกเขา มีลูกหลานฝาแฝดถึง 4 คู่ แต่ไม่มีคู่ไหน ที่มีร่างกายติดกันเหมือนแฝดสยามอิน-จัน เลย
ทางด้านจังหวัดสมุทรสงคราม บ้านเกิดของแฝดสยาม ได้ทำการสร้างอนุสรณ์สถานอิน-จัน ขึ้นที่ตำบลแม่กลอง บริเวณพิพิธภัณฑ์เรือ บนเนื้อที่ 10 ไร่ โดยสร้างเป็นรูปหล่อขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด และเป็นการระลึกถึงแฝดอิน-จันด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันแม่แห่งชาติ



ประวัติวันแม่
แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุน จนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความ สำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวัน แม่ของชาติ ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ
จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่
การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่




สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
คำขวัญวันเเม่ ประจำปี พ.ศ.2553
"แผ่นดินนี้ แม่ของลูก ใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าว ที่เดินซ้ำ ย่ำหว่านไถ บำรุงดิน จนอุดม สมดังใจ หวังนาไทย เป็นของไทย ไปนิรันดร์"
เพลงที่ใช้ในวันเเม่

ค่าน้ำนม คือ เพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้ในงานวันเเม่เเห่งชาติ เเต่งขึ้นโดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้เรียบเรียงบทเพลงที่เรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอมตะ และเป็นงานเพลงชิ้นเอก ซึ่งได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนระลึกถึงบุญคุณของเเม่เเละวันคืนเก่าๆ ของวิถีไทยในสมัยก่อน เนื้อเพลง นอกจากจะให้เราระลึกถึงพระคุณเเม่เเล้วยังทำให้เรามองเห็นขนบดั้งเดิมตามวิถีไทย หลายอย่างจากเนื้อเพลง เช่นการศึกษาของผู้ชายไทยสมัยก่อนนั้น มักจะอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นแหล่งสอนสั่งความรู้ ทางโลก อ่านออกเขียนได้ และ ทางธรรม อันได้แก่ การถือศีล และยิดมั่นในพระรัตนไตร นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากลูกชายบ้านใหน ได้บวชเรียน ก็จะส่งแผ่ อานิสงค์ไปให้กับพ่อแม่ ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่ที่ดีๆ เมื่อถึงกาลแตกดับ ท่วงทำนองเสนาะโสต และ ทุ่มเย็น กับคำร้องที่ตรงไป ตรงมา ชวนให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แม้แต่เด็กเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครฟังเพลงนี้แล้วจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับความซาบซึ้งแห่งรักที่แม่ มีให้เรา...
เพลง ค่าน้ำนม
แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋าลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย


วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จังหวัด บึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย



จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีการร้องขอให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2537 ตามข้อเสนอของนายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย

จากการสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 366,903 คน ปรากฏว่าประชาชนเห็นด้วยกับการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ร้อยละ 98.83 หากมีการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ จะมีประชากรประมาณ 399,233 คน ประกอบด้วย 8 อำเภอ ส่วนจังหวัดหนองคาย จะประกอบด้วย 9 อำเภอ ประชากร 506,343 คน


♥ สภาพทั่วไปบึงกาฬ

เป็นอำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก มีภูเขา เป็นอำเภอที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง และแขวงบริคำไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

♥ ผลการพิจารณา

เมื่อปี พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งผลการพิจารณาว่ายังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐซึ่งขัดมติคณะรัฐมนตรี


ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 กระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ...


ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทำการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นซึ่งมีผลนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จึงนับได้ว่าขณะนี้จังหวัดบึงกาฬได้แยกตัวออกจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่ 77 ในราชอาณาจักรไทย

♥ อำเภอเมืองบึงกาฬ
อำเภอเมืองบึงกาฬ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบึงกาฬ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก มีภูเขา เป็นอำเภอที่มีเขตพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง และอีกฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) มีการคมนาคมสะดวก

♥ ประวัติ

เดิมอำเภอบึงกาฬมีชื่อเดิมว่า ไชยบุรีซึ่งขึ้นกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 ได้ถูกโอนย้ายให้ขึ้นต่อจังหวัดหนองคาย และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บึงกาฬ ในปี พ.ศ. 2482


ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการร้องขอให้จัดตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ ตามข้อเสนอของนายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย แต่กระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐซึ่งขัดมติคณะรัฐมนตรี


จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.ส่วน พรรคกิจสังคมได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ และทางกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วย กำลังอยู่ในกระบวนการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมายพ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ต่อไป


ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทำการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นซึ่งมีผลนับตั้งแต่นี้ เป็นต้นไป จึงทำให้อำเภอบึงกาฬ ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมืองบึงกาฬ


♥ สถานที่ท่องเที่ยว

►ภูทอก



► เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง



► วัดสว่างอารมณ์


► บึงโขงหลง




วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส



นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส (Premier ministre français) เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและคณะรัฐมนตรีของประเทศฝรั่งเศส ส่วนประมุขแห่งรัฐของประเทศฝรั่งเศสคือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศสคือ
ฟรองซัวส์ ฟียง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การตัดสินใจหรือกฤษฎีกาของนายกรัฐมนตรี เสมือนกับการตัดสินใจทั้งหมดของฝ่ายบริหาร มีหน้าที่สอดส่องดูแลระบบสภาในหน่วยการบริหารทั่วประเทศ (Conseil d'État) บางครั้งนายกรัฐมนตรีได้รับคำปรึกษาจากสภาก่อนจะประกาศใช้กฤษฎีกา

เป็นที่รู้กันว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านต้องการปกป้องนโยบายและโครงการในกระทรวงของตน แต่ก็ยังติดอยู่ที่งบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนี้เองเป็นคนชี้ขาดในเรื่องเหล่านี้ แม้ว่าบางครั้งประธานาธิบดีจะมีนาจและอิทธิพลเหนือกว่าก็ตาม

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลนโยบายของ
รัฐบาล เมื่อเกิดความผิดพลาดและล้มเหลวก็จะกลายเป็นคนที่ถูกประณามและตำหนิไปโดยปริยาย ผลที่ตามมาก็คือความนิยมที่มีสูงในช่วงแรกและลดฮวบลงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนคิดว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการส่งเสริมความสำเร็จของประธานาธิบดี และยังเป็นที่โต้เถียงอย่างมากว่าเป็นตำแหน่งที่อันตรายเพราะความเป็นไปได้ของการลดความนิยม

♦ การเสนอชื่อ

นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และเนื่องจากรัฐสภาสามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ ผลที่ตามมาคือการกดดันให้รัฐบาลลาออก ทำให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนมากของสภาแห่งชาติอีกด้วย


เมื่อประธานาธิบดีและเสียงส่วนมากของสภาแห่งชาติอยู่ตรงข้ามกันในทางการเมืองจะเรียกว่า การบริหารร่วมกัน (Cohabitation) ซึ่งหมายความว่าประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันหรือประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมาจากต่างพรรคและต่างขั้ว นายกรัฐมนตรียังเป็นคนเสนอชื่อรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในคณะรัฐมนตรีให้แก่ประธานาธิบดีด้วย

♦ สถานที่พักอย่างเป็นทางการ

โอเต็ล มาติญง (Hôtel Matignon) ตั้งอยู่บนเขต 7 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

☻ เกร็ดข้อมูล
♥ นายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนเดียวในประเทศฝรั่งเศส : เอดิต เครซซง
♥ นายกรัฐมนตรีสองสมัย :
ฌากส์ ชีรัก (คนที่ 6 และ 10 ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5)
♥ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีการการบริหารร่วมกัน (Cohabitation) :
ฌากส์ ชีรัก, เอดูอาร์ด บัลลาดูร์, ลีโอเนล โฌส์แปง

☻ นายกรัฐมนตรีที่ไปเป็นรัฐมนตรีในภายหลัง :


มิแชล เดอเบร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (รัฐบาลจอร์จ ปอมปิดู 3 และ 5), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รัฐบาลจอร์จ ปอมปิดู 5 และโมริส กูฟ เดอ มูร์วิลล์), รัฐมนตรีแห่งรัฐ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รัฐบาลฌากส์ ชาบอง-เดลมาส์และปีแอร์ เมสแมร์ 1))
โลรองต์ ฟาบิอูส์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การคลังและอุตสาหกรรม (รัฐบาลลีโอเนล โฌส์แปง)
อแลง ฌูป์เป (รัฐมนตรีแห่งรัฐ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (รัฐบาลฟรองซัวส์ ฟียง 1)

ประธานสภาแห่งชาติฝรั่งเศส (Président de l'Assemblée Nationale)
ฌากส์ ชาบอง-เดลมาส์ : พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2512, พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2531
โลรองต์ ฟาบิอูส์ : พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2543
เลือกตั้งเข้าไปใน
ราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (l'Académie Française)
มิแชล เดอเบร : 24 มีนาคม พ.ศ. 2531
ปีแอร์ เมสแมร์ : 25 มีนาคม พ.ศ. 2542

คณะกรรมาธิการยุโรป (Commissaire Européen)
เอดิต เครซซง : พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2542

อายุเมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด :
โลรองต์ ฟาบิอูส์ (37 ปี), ฌากส์ ชีรัก (41 ปี), มิแชล เดอเบร (47 ปี), อแลง ฌูป์เป (49 ปี)
☻นายกรัฐมนตรีที่มีอายุมากที่สุด:
ปีแอร์ เบเรโกวัว (66 ปี), เอดูอาร์ด บัลลาดูร์ (64 ปี), โมริส กูฟ เดอ มูร์วิลล์ (61 ปี)


♥ นายกรัฐมนตรีที่เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2501

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2508

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2512
จอร์จ ปอมปิดู ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส 1 ปีหลังจากการออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
มิแชล โรการ์ด ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 ในการเลือกตั้งรอบแรก - 19 ปีก่อนการเป็นนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2517
ฌากส์ ชาบอง-เดลมาส์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งรอบแรก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2524
ฌากส์ ชีรัก ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งรอบแรก
มิแชล เดอเบร ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 8 ในการเลือกตั้งรอบแรก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2531
ฌากส์ ชีรัก ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 ในการเลือกตั้งรอบแรกและรอบสอง ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
เรมงด์ บาร์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งรอบแรก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2538
ฌากส์ ชีรัก ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 ในการเลือกตั้งรอบแรกและชนะในการเลือกตั้งรอบสอง เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส - 19 และ 7 ปี หลังจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลีโอเนล โฌส์แปง ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ในการเลือกตั้งรอบแรกและลำดับที่ 2 ในการเลือกตั้งรอบสอง - 2 ปีก่อนการเป็นนายกรัฐมนตรี
เอดูอาร์ด บัลลาดูร์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งรอบแรก ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2545
ฌากส์ ชีรัก ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ลีโอเนล โฌส์แปง ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งรอบแรก ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2550
♥ ไม่มีผู้สมัครคนได้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนเลย