วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หุบผากษัตริย์

หุบผากษัตริย์ : สถานสถิตชั่วนิรันดร์แห่งวิญญาณฟาโรห์

กำเนิดอำนาจใหม่
ยุคอียิปต์เก่าซึ่งย้อนไปได้ถึงราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นวันเวลาของปิรามิดขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่านทอดเงาบนที่ราบสูงแห่งกิซา โดยมีหมู่สุสานของเชื้อพระวงศ์และขุนนางคนสำคัญอยู่แทบเบื้องบาทของมันดั่งจะประกาศอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์แห่งฟาโรห์ ผู้ปกครองอันสืบสายเลือดมาจากทวยเทพล่วงเลยมานับพันปีให้หลัง อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายลงด้วยความเสื่อมตามเงื่อนไขของกาลเวลาและการรุกรานของฮิคโซส ชนเผ่าเร่ร่อนจากภายนอก จนกระทั่งเหล่าชนชั้นสูงแห่งนครธีบส์ได้ลุกขึ้นมาขับไล่เผ่าพวกฮิคโซสออกไปและรวบรวมอาณาจักรอียิปต์ขึ้นมาใหม่ เป็นสมัยที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่า “สมัยอาณาจักรใหม่” อันเป็นยุคที่อำนาจของชาวอียิปต์ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอย่างสมเกียรติและแผ่ขยายออกไปไกลที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์เพื่อตอกย้ำตัวตนของอำนาจใหม่ที่อุบัติขึ้น เหล่าชนชั้นสูงแห่งธีบส์จึงได้เลือกสิ่งที่ต่างออกไปเพื่อแสดงพลังของพวกเขา และเพื่อแสดงว่ายุคใหม่มาถึงแล้ว

เนินเขาธีบัน (Theban Hills) นอกเมืองธีบส์ (ลักซอร์ในปัจจุบัน) บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ถูกปกคลุมด้วยเงาของยอดเขาอัล-คูร์น (al-Qurn) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยอียิปต์โบราณว่า “ทา ดีฮีนต์ (ta dehent)” แปลว่า ยอดสูงสุดของภูเขา (The Peak) และเมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปจากเนินเขาธีบัน ก็จะพบว่า อัล-คูร์นในวันนี้หรือทา ดีฮีนต์เมื่อวันวาน มีรูปลักษณ์ปิรามิดขนาดยักษ์ไม่มีผิดแม้จะต้องการสร้างสิ่งใหม่ แต่ความคิดเรื่องโลกหลังความตายของเหล่าชนชั้นสูงแห่งธีบส์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก พวกเขาอาจต้องการความยิ่งใหญ่เทียบเท่าวันที่ปิรามิดประกาศศักดา แต่สิ้นเปลืองน้อยลงเพราะเป็นช่วงเวลาที่ฟื้นฟูบ้านเมืองใหม่ สภาพภูมิประเทศบนเนินเขาธีบันซึ่งคล้ายคลึงกับหมู่สุสานบนที่ราบสูงกิซานอกอดีตนครหลวงเมมฟิสจึงอาจเป็นทางเลือกที่พวกเขาปรารถนา

จากจุดประสงค์ที่ต้องการใช้สภาพภูมิประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการก่อสร้างของเหล่าสถาปนิกและวิศวกรในสมัยอาณาจักรอียิปต์ใหม่นี้เอง จึงกลายเป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไม ฟาโรห์แห่งอียิปต์ในสมัยนี้จึงได้เลือกอาณาบริเวณนั้นเป็นที่สถิตแห่งลมหายใจเฮือกสุดท้ายของตน และเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในสุสานอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยก่อสร้างมา อาณาบริเวณได้รับการขนานนามว่า “หุบผากษัตริย์” (Valley of the Kings)



ก้าวแรกของหุบผากษัตริย์
จากเสียงสะท้อนของปิรามิดในสมัยอาณาจักรเก่า เป็นเวลานับพันปีให้หลังที่สุสานหลวงแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในบริเวณหุบผากษัตริย์ บริเวณซึ่งตำแหน่งของมันถูกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกและพรั่งพร้อมด้วยเหล่าเมดไจ (Medjai) หน่วยองครักษ์พิเศษที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้พิทักษ์พื้นที่อันเป็นสุสา โดยจากหลักฐานเท่าที่พบเชื่อกันว่า สุสานหลวงแห่งแรกในหุบผากษัตริย์น่าจะเป็นของฟาโรห์ทุตโมสที่ 1 (Thutmose I) แห่งราชวงศ์ที่ 18

หุบผากษัตริย์ถูกใช้สำหรับเป็นสถานที่ฝังศพอยู่ราว 500 กว่าปีโดยเริ่มตั้งแต่ 1,539 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง 1075 ปีก่อนคริสตกาลในรัชสมัยของฟาโรห์รามเซสที่ 11 (Ramesses XI) มีสุสานในหุบเขาแห่งนี้อย่างน้อย 63 สุสาน
แม้ชื่อจะบ่งบอกว่าเป็นหุบเขาสำหรับบรรจุพระศพของฟาโรห์เท่านั้น แต่ในความจริงกลับมีสุสานของเหล่าผู้สูงศักดิ์มากมายอยู่ในหุบผากษัตริย์ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่องค์ฟาโรห์โปรดปราน อาทิ เชื้อพระวงศ์หรือขุนนางใกล้ชิดตลอดจนภรรยาและบุตรธิดาของพวกเขาเหล่านั้น ในรัชสมัยของฟาโรห์รามเซสที่ 1 (Ramesses I) ได้มีการก่อสร้างหุบผาราชินี (Valley of the Queens) เพื่อเป็นสุสานสำหรับราชินีโดยเฉพาะ แต่ถึงกระนั้นราชินีบางองค์ก็เลือกที่จะถูกฝังเคียงข้างพระสวามีในหุบผากษัตริย์

ในสมัยราชวงศ์ที่ 18 มีเพียงฟาโรห์เท่านั้นที่ได้สิทธิ์ในการสร้างสุสานขนาดใหญ่ในหุบผากษัตริย์ ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือไม่ หากต้องการถูกฝังที่นั่นจะได้รับอนุญาตเพียงสุสานขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการขุดโพรงหินเท่านั้น และสุสานของคนเหล่านี้ก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ปิดทางเข้าสุสานของฟาโรห์พระองค์นั้นๆพอดี

นับแต่รัชสมัยฟาโรห์ทุตโมสที่ 1 เป็นต้นมา ฟาโรห์ทุกพระองค์ในราชวงศ์ที่ 18 เลือกที่จะฝังพระองค์ในหุบผากษัตริย์ จนมาถึงรัชสมัยฟาโรห์เอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) ที่ได้ย้ายไปสร้างสุสานของพระองค์ในหุบเขาตะวันตก ตามมาด้วยโอรสของพระองค์คือฟาโรห์อัคเคนาเตน (Akhenaten) ได้สร้างสุสานของพระองค์ที่นครอาร์มานา ฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 18 กลับมาสร้างสุสานอีกครั้งในรัชสมัยของฟาโรห์ตุตันคามุน (Tutankhamun)

เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ที่ 19 และ 20 จำนวนสุสานในหุบผากษัตริย์ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของฟาโรห์ผู้มีโอรสมากอย่างฟาโรห์รามเซสที่ 2 และฟาโรห์รามเซสที่ 3 ซึ่งได้มีการก่อสร้างสุสานจำนวนมากในหุบผากษัตริย์ให้กับเหล่าโอรสของพระองค์ อย่างไรก็ดี มีฟาโรห์ในช่วงเวลานี้บางพระองค์ไม่สร้างสุสานในหุบผากษัตริย์ อาทิ ฟาโรห์ทุตโมสที่ 2 (Thutmose II) เลือกสร้างสุสานของพระองค์ที่ ดราอาบู เอล-นาคา (Dra' Abu el-Naga') ซึ่งเป็นบริเวณสุสานของราชวงศ์ที่ 17

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น